วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

วิธีเลี้ยงปลากัด

วิธีเลี้ยงปลากัด
การเลี้ยงปลากัด
1. การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัด
การเลี้ยงปลากัดเพื่อเพาะเป็นพ่อแม่พันธุ์ ควรเลือกลูกปลาที่มีอายุประมาณ 1.5 – 2 เดือนขึ้นไป ด้วยการเลือกคุณสมบัติในเชิงต่อสู้ ซึ่งมักจะแสดงนิสัยก้าวร้าวขณะเลี้ยง แล้วรีบแยกเลี้ยงในภาชนะเพียงตัวเดียว ทั้งเพศผู้ และเพศเมีย ก่อนจะเลี้ยงรวมกันในช่วงฤดูผสมพันธุ์
วิธีสังเกตเพศปลากัด
– ดูสี
ปลากัดเพศผู้จะมีสีเข้มกว่าเพศเมีย ลายบนลำตัวเด่นชัดกว่าตัวเมีย ซึ่งจะดูได้ชัดเจนเมื่อปลามีอายุประมาณ 2 เดือนขึ้นไป
– ดูครีบ และกระโดง
ปลากัดตัวผู้จะมีครีบท้องยาวกว่าตัวเมีย และกระโดงยาวไปจรดหาง ส่วนตัวเมียกระโดงจะสั้นกว่า
– ดูท่อนำไข่
หากมีจุดขาวบริเวณใต้ท้องจะเป็นตัวเมีย ซึ่งเป็นจุดของท่อนำไข่
– ดูปาก
ปลากัดที่มีวงปากเป็นสีแดงแสดงว่าเป็นตัวผู้ ซึ่งใช้สังเกตได้ตั้งแต่ปลาอายุประมาณ 20 วัน
– ดูขนาดลำตัว
ปลาตัวผู้จะมีลำตัวใหญ่กว่าตัวเมียในช่วงอายุที่เท่ากัน
ภาชนะที่ใช้เลี้ยงปลากัด ควรเป็นภาชนะขนาดเล็ก และปากไม่เปิดกว้างมาก เพื่อป้องกันการกระโดดของปลา และป้องกันศัตรูที่อาจจับกินปลา เช่น แมว จิ้งจก ฯลฯ และควรจัดทำเป็นชั้นวางขวดเพื่อประหยัดพื้นที่ และช่วยให้สะดวกในการจัดการ การให้อาหาร พื้นที่เลี้ยงควรมีอากาศถ่ายเทได้ดี โดยเฉพาะในฤดูร้อน เพราะอุณหภูมิสูงหรือต่ำมากจะมีผลกระทบต่อปลากัดอย่างรวดเร็ว ทำให้ปลาตายได้ง่ายหากอุณหภูมิสูง (อุณหภูมินํ้าไม่ควรเกิน 30 องศาเซลเซียส ) และอุณหภูมิต่ำจะทำให้ปลาไม่กินอาหาร เป็นสาเหตุทำให้ปลาตายเช่นกัน
นํ้าที่เลี้ยงต้องปราศจากคลอรีน ควรเป็นน้ำบ่อธรรมชาติหรือน้ำบาดาล ควรหลีกเลี่ยงการใช้ประปา ความเป็นกรด – ด่าง (pH) ของน้ำประมาณ 6.5 – 7.5 ความกระด้าง (hardness) 75 – 100 มิลลิกรัม/ลิตร และความเป็นด่าง (alkalinity) 150 – 200 มิลลิกรัม/ลิตร
2. การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลา ในขั้นตอนแรกต้องหาปลาที่มีสายพันธุ์ปลาที่ดีจากแหล่งเลี้ยงหรือแหล่งเพาะพันธุ์ที่เชื่อถือได้ โดยให้ความสำคัญกับรูปร่างลำตัว เช่น ต้องมีความสมส่วนทั้งลำตัว ครีบ และหาง ตะเกียบยาวเสมอกันทั้ง 2 ข้าง เมื่อพองขอบครีบหลังจรดครีบหางสีสด แข็งแรง และปราดเปรียวและพ่อแม่ปลาที่นำมาผสมกันควรมีอายุ 5 – 6 เดือนขึ้นไป
เนื่องจากลาอายุน้อยจะมีขนาดตัวเล็กทำให้ปริมาณไข่น้อย แม่ปลามีอายุ 3 เดือน นํ้าหนักตัว 0.7 – 0.8 กรัม จะมีไข่ 100 – 300 ฟอง/ครั้ง แต่ถ้ามีอายุ 5 – 6 เดือนขึ้นไป จะให้ไข่ 500 – 1,000 ฟอง/ครั้ง
การคัดเลือกปลาเพศผู้ และเพศเมียมาผสมพันธุ์ ควรตรวจความสมบูรณ์เพศ โดยใช้หลักการ
ดังนี้
– ปลาเพศผู้ต้องแข็งแรง ไม่เซื่องซึม สีสวย เป็นปลาที่ชอบสร้างหวอด (การพ่นฟองอากาศที่มี
นํ้าเมือกจากปาก และลำคอสำหรับเพศเมียวางไข่) ซึ่งแสดงถึงปลาเพศผู้ที่มีความสมบูรณ์ทางเพศพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้
– ปลาเพศเมีย ควรเป็นปลาที่แข็งแรง ไม่เซื่องซึม ว่ายน้ำ ปราดเปรียว บริเวณท้องอูมเป่ง ใต้ท้องมีตุ่มสีขาวที่เรียกว่าไข่นำ ซึ่งอยู่ใกล้กับรูก้น
3. วิธีการเพาะพันธุ์
นำปลากัดเพศผู้ และเพศเมียที่คัดไว้ ใส่ขวดแล้วนำมาวางติดกัน ซึ่งเรียกวิธีนี้ว่า เทียบคู่ เพื่อเป็นการเร่งให้ไข่พัฒนาเร็วขึ้น ขณะที่มีการเทียบคู่ควรปราศจากสิ่งรบกวนใดๆ ใช้เวลาในการเทียบคู่ประมาณ 3 – 10 วัน หรือสังเกตตัวเมียจะมีไข่เต็มที่ (ไข่ออกมากระจุกตรงช่องท้อง)
จากนั้นนำปลาเพศผู้ และเพศเมียมาใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น อ่างดิน ตู้กระจก อ่างซีเมนต์ เป็นต้น ระดับนํ้าสูง 4 – 8 นิ้ว ใส่พรรณไม้นํ้าสะอาด ซึ่งต้องฆ่าเชื้อด้วยด่างทับทิมก่อน  ได้แก่ สาหร่ายพุงชะโด สาหร่ายหางกระรอก จอก ใบผักตบชวา เป็นต้นสำหรับเป็นที่เกาะของหวอด
เมื่อปลาเพศผู้ และเมียปรับตัวกับสภาพใหม่ได้แล้ว ปลาเพศผู้จะเริ่มก่อหวอดติดกับไม้น้ำ โดยหวอดจะสร้างขึ้นจากฟองอากาศผสมกับนํ้าเมือกในโพรงปาก สำหรับเป็นรังพัก และฟักไข่ และเป็นที่ยึดเกาะของตัวอ่อนที่ฟักจากไข่
เมื่อสร้างหวอดสำเร็จ ปลาตัวผู้จะกางครีบไล่ต้อนปลาเพศเมียให้ไปอยู่ใต้หวอด ปลาเพศผู้จะงอตัวเป็นรูปตัวยู (U) หรือตัวเอส(S) รัดปลาเพศเมียให้ช่องอวัยวะเพศ (genital pore) ตรงกัน ปลาเพศเมียจะวางไข่ โดยไข่จะหลุดออกมาทางช่องอวัยวะเพศ และปลาเพศผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมทันที
เมื่อไข่ได้รับการผสมแล้ว ไข่จะค่อยๆ จมลงสู่ก้นภาชนะ ปลาตัวผู้จะตามลงไป แล้วใช้ปากดูดอมไข่ทีละฟองจนเต็มปาก แล้วว่ายนํ้าขึ้นไปพ่นไข่ไว้ที่หวอดที่สร้างไว้ และจะพ่นฟองอากาศใหม่ติดไว้ใต้หวอด  ส่วนปลาเพศเมียเมื่อออกไข่แล้วก็จะลอยตัวนิ่ง ๆ ช่วงหนึ่ง ซึ่งอาจใช้เวลานานนับชั่วโมงก็ได้ และเมื่อปลาเพศผู้นำไข่พ่นไว้ที่หวอดเสร็จแล้ว ปลาตัวผู้จะไล่ต้อนตัวเมียไปอยูที่มุมภาชนะ จะเฝ้าดูแลไข่เพียงลำพัง และเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาตัวเมียกินไข่ที่ผสมแล้ว ดังนั้น ต้องรีบแยกตัวเมียออกจากภาชนะหลังวางไข่เสร็จ
ปล่อยให้ปลาเพศผู้เฝ้าดูแลไข่อีกประมาณ 2 วัน จึงแยกเพศผู้ออก ซึ่งการฟักตัวของปลากัดจะใช้เวลาประมาณ 30 – 40 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิประมาณ 25 – 32 องศาเซลเซียส
4. การอนุบาลลูกปลากัด
ภาชนะที่ใช้อนุบาลลูกปลา ได้แก่ ตู้กระจก อ่างดิน อ่างปูนซีเมนต์หรือถังไฟเบอร์ แต่ภาชนะที่ดีที่สุด คือ บ่อเพาะพันธุ์ ลูกปลากัดที่ฟักออกมาใหม่จะมีที่พักภายในหวอด และยังคงอยู่ในนั้นจนกระทั่งใช้ไข่แดง (yolk sac) เป็นอาหารหมด โดยจะใช้เวลา 3 – 4 วันแรกหลังการฟักออกจากไข่ ซึ่งระยะนี้ไม่จำเป็นต้องให้อาหาร
หลังจากที่ถุงไข่แดงยุบตัวหมดแล้ว ลูกปลาจะเริ่มหากินอาหาร ระยะนี้จะให้ไข่แดงต้มสุก โดยนำไข่แดงต้มสุกละลายนํ้า กรองผ่านกระชอนตาถี่ ให้กระจายทั่วในนํ้า ทำการให้อาหารวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 – 5 วัน แล้วเปลี่ยนเป็นไรแดง (Moina) ขนาดเล็ก (ตัวอ่อนไรแดง) แยกโดยใช้กระชอนตาถี่กรองไรแดงขนาดเล็ก  เมื่อปลาอายุได้ 10 วัน ให้เลี้ยงต่อไปจนปลาสามารถกินลูกนํ้าได้ (ประมาณ 15 – 20 วัน)
การแยกเพศจะทำได้เมื่อปลาอายุประมาณ 1.5 เดือนขึ้นไป ช่วงต้นของการอนุบาลปลายังมีขนาดเล็กอยู่ทำให้การถ่ายน้ำลำบาก ดังนั้น หลังเมื่อปลามีอายุประมาณ 10 วัน ก็สามารถเปลี่ยนถ่ายนํ้าได้โดยการดูดตะกอน และเปลี่ยนถ่ายนํ้าครั้งละ 2/4-3/4 ของปริมาตรทั้งหมดในบ่อ และควรใส่ผักบุ้งหรือผักตบชวาที่ทำความสะอาดแล้วลงไปในบ่อประมาณ 2 – 3  ต้น เพื่อให้ลูกปลากินเป็นอาหาร และใช้อยู่อาศัย
5. อาหารปลากัด
อาหารที่ให้ควรเหมาะสมกับลูกปลาต้องเป็นอาหารมีคุณค่า และย่อยได้ง่าย อาหารในช่วงต้นการอนุบาลลูกปลา คือ โรติเฟอร์ ตัวอ่อนอาร์ทีเมีย และไข่แดงต้มสุกบดผ่านผ้าขาวบาง
ระยะที่สอง เมื่อลูกปลามีอายุ 10 – 20 วัน อาหารที่ให้จะมีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ไรแดง หรืออาร์ทีเมียขนาดเล็กก็ได้
ระยะที่สาม เมื่อลูกปลาอายุ 20 วันขึ้นไป อาหารที่ให้จะเป็นไรแดงตัวเต็มวัย อาร์ทีเมียตัวเต็มวัย ลูกนํ้า และหนอนแดง
อาหารมีชีวิตที่ใช้เลี้ยง ควรล้างให้สะอาด และแช่ด้วยด่างทับทิบเสียก่อน เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับอาหาร
นอกจากการให้อาหารมีชีวิตแล้ว ควรฝึกหัดให้ปลากัดกินอาหารสำเร็จรูปด้วย โดยค่อยๆฝึกด้วยการเปลี่ยนเป็นอาหารสำเร็จรูป วันละ 1 ครั้ง วันเว้นวัน หรือ 2-3 วันครั้ง สำหรับลูกปลาที่มีอายุมากกว่า 20 วัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น